หลวงปู่บุดดา ถาวโร “ อริยสงฆ์ผู้มาจากอดีตกาล ” วัดกลางชูศรีเจริญสุข อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี

ภาพและเรื่องโดย ส.เจริญสุข

ท่านผู้อ่านที่เคารพ พระพุทธศาสนามีจุดยืนอยู่อย่างหนึ่งนั่นก็คือ เรื่องของวัฏสงสาร การเวียนว่ายตายเกิด ตายแล้วไม่สูญ กรรมคือสิ่งที่บ่งบอกถึงเวรที่จะได้รับในเวลาต่อมา สามารถข้ามภพชาติไม่สิ้นสุด หากต้องการไปอยู่ในภพภูมิที่ดีๆ ก็ควร กระทำความดี หลีกหนีความชั่ว อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา มีผู้เขียนประวัติของหลวงปู่บุดดาหลายสำนวนด้วยกัน ผู้เขียนคิดจะไปประชันขันแข่งก็หาไม่ หากแต่มุ่งจะชี้ให้เห็นว่าการที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดกับความสำเร็จความรุ่งโรจน์ ไม่ว่าจะเป็นในมนุษย์สมบัติ หรือนิพพานสมบัติ ในปัจจุบันชาตินั้นหาได้เกิดขึ้นในภพนี้ก็หาไม่ หากแต่เกิดจากได้บำเพ็ญบารมีความดีอันเป็นกุศลกรรมมาติดต่อกันหลายชาติหลายภพ จนกระทั่งที่สุดก็พบกับความสำเร็จด้วย เหตุจากกุศลมูลเดิมนั่นเอง

เหรียญรูปไข่หลวงปู่บุดดา ถาวโร
สำนักสงฆ์สองพี่น้อง ชัยนาท ยันต์ 5
ที่ระลึกกฐินสามัคคี 2518 เนื้อทองแดง
หลวงปู่บุดดา เป็นตัวอย่างที่สามารถยืนยันถึงความเป็นมาแห่งกุศลและอกุศลกรรมในอดีตได้เป็นอย่างดี เป็นเรื่องราวของนักปฏิบัติผู้อุทิศชีวิตที่มีอยู่เพื่อธรรมะถวายเป็นพุทธบูชา ทุกถ้อยคำตัวอักษรผู้เขียนได้ติดตามไปสืบเสาะและค้นคว้าจนถึงต้นกำเนิดของข้อมูล และเรียบเรียงขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงคุณธรรมของ หลวงปู่บุดดา และสะกิดเตือนท่านผู้อ่านทุกท่านให้ได้ตระหนักว่า

“ อริยสงฆ์ในยุคปัจจุบันนี้ยังมีอยู่ แต่จะมีสักกี่คนที่จะมีดวงตาอันแจ่มใส พอที่จะได้มองเห็นคุณธรรมอันซ่อนเร้นไว้ภายในของพระอริยสงฆ์เหล่านั้น และเข้าไปรับรังสีและปัญญาธรรมเพื่อนำชีวิตไปสู่ความเจริญ ไม่หลงติดไปในคำอวดอ้างของสื่อสร้างสรรค์ต่างๆ อันเป็นการลวงโลก จนหลงเข้าไปหาอลัชชีเป็นข่าวเป็นคราว อันร้าวรานใจชาวพุทธอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
พระปรกใบมะขาม รุ่นแรก เนื้อทองแดง
หลังหลวงปู่บุดดา
พึงอย่าเชื่อเพราะเขาว่า พึงอย่าเชื่อเพราะคนส่วนมากเขานับถือ พึงอย่าเชื่อเพราะการแสดงออก แต่พึงเชื่อด้วยการใช้ปัญญาไตร่ตรอง เพื่อทำให้ท่านพ้นจากสมมติสงฆ์ผู้ห่มคลุมด้วยจีวรของพระอริยะจอมปลอม ที่จะนำท่านผู้อ่านไปสู่อบายภูมิอย่างน่าเวทนาที่สุด ”

เด็กน้อยผู้มีพฤติกรรมประหลาด

หลวงปู่บุดดา ถาวโร เกิด ณ บ้านพุคา อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี นามเดิม บุดดา มงคลทอง ( บุดดาเป็นภาษาสมัยเชียงแสน แปลเป็นภาษากลางว่า “ บุตรธิดา ” ) โยมบิดาชื่อ นายน้อย มงคลทอง โยมมารดาชื่อ นางอึ่ง มงคลทอง เกิดเมื่อวันเสาร์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2437 มีพี่น้องรวม 7 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 3 คน

หลวงปู่บุดดา ถาวโร ( อายุ 100 ปี ) และหลวงปู่เย็น
ทานรโต ( อายุ 90 ปี ) ผู้นิมนต์หลวงปู่บุดดา
มาอยู่วัดกลางชูศรีเจริญสุข
ตอนเป็นเด็ก หลวงปู่มีสุขภาพอนามัยดี แข็งแรง คล่องแคล่วว่องไว สนใจเชื่อมั่นเลื่อมใสในพุทธศาสนาแต่เยาว์วัย แต่สมัยนั้นไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ เพราะในละแวกบ้านนั้นไม่มีโรงเรียน วัยเด็กท่านก็วิ่งเล่นซุกซนตามประสา พอเติบใหญ่ก็ช่วยบิดา-มารดาทำนา เป็นอาชีพหลักของครอบครัว ตอนเด็กเมื่อพูดได้หลวงปู่ก็จำอดีตของท่านได้ ว่าเคยเกิดที่ไหน ตายที่ไหน เคยเกิดเคยตายมาแล้ว เกิดที่ไหนแคว้นไหน เคยรู้มาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล ทำปฐมสังคายนาอยู่ 3 เดือน ท่านยังได้ร่วมทำบุญตักบาตรพระอรหันต์ 500 รูปมาแล้ว และช่วยในงานถวายพระราชทานเพลิงพระพุทธเจ้าด้วย แต่จิตยังตามไม่ทัน ยังต้องท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตายมาจนปัจจุบันชาติ

หลวงปู่บุดดา-ครูบาพรหมจักร
วัดพระพุทธบาทตากผ้า จ.ลำพูน
หลวงปู่เกิดสัญญาจำอดีตชาติได้ว่า บิดาในปัจจุบันคือพี่ชายของท่านในชาติก่อน พี่ชายคนนี้รักและตามใจน้องทุกอย่าง และยังจำสัญญาเดิมได้แม่นยำ มาปัจจุบันชาติขณะอายุ 10 ขวบ ท่านถูกบิดาเฆี่ยน จึงวิ่งออกนอกบ้านพร้อมกับตะโกนว่า “ พ่อโกหก! พ่อโกหก! ” พ่อก็งงว่า เอ...ทำไมลูกถึงพูดแบบนี้ มารดาจึงได้เข้าไปปลอบพร้อมสอบถาม ท่านจึงเล่าเรื่องอดีตชาติให้มารดาฟังว่า พ่อไม่รักษาคำพูด ว่าจะไม่ทอดทิ้ง ไม่ตี ไม่ดุ แต่พ่อยังหลงตีลูกอีก ตีลูกก็ถูกน้องชาย น้องชายมาเกิดพี่ชายก็ไม่รู้จัก น้องชายคือ หลวงปู่ พี่ชายเป็นพ่อ แต่พ่อระลึกชาติไม่ได้ ส่วนหลวงปู่ระลึกชาติได้ จึงตะโกนออกไปด้วยความน้อยใจ ทำให้ร่ำลือกันในหมู่ญาติว่า เด็กชายบุดดา มงคลทอง เป็นเด็กที่ระลึกชาติได้ตั้งแต่นั้นมา และท่านก็มิได้ถูกบิดาเฆี่ยนตีอีกเลย

เหรียญกลมหลวงปู่บุดดา ถาวโร
สำนักสงฆ์สองพี่น้อง ยันต์ 5
อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท เนื้อทองแดง

เดิมพันชีวิตสู้ตัณหาและราคะ

ท่านผู้รู้กล่าวว่า เมื่อกุลบุตรอุปสมบทเป็นพระภิกษุตามพุทธานุญาตแล้ว ก็มีฐานะเพียง สมมติสงฆ์ หมายความว่า เพียงให้ครองผ้าเหลืองและถือศีล 227 ข้อเป็นสรณะ ส่วนจะถือได้มากน้อยเพียงใด ลด ละ เลิก ฆราวาสวิสัยได้หรือไม่ ปฏิบัติเผากิเลสเพียงใด เวลาเท่านั้นจะพิสูจน์ได้ว่า สมมติสงฆ์จะสามารถปรับภูมิธรรมให้ขึ้นไปเป็นอริยสงฆ์ได้หรือไม่
เหรียญอาร์มหลวงปู่บุดดา ถาวโร ยันต์ 5
ฉลองอายุครบ 7 รอบ 2519 สำนักสงฆ์
สองพี่น้อง ชัยนาท เนื้อกะไหล่ทอง

ทว่าสมมติสงฆ์ที่มีอยู่กลาดเกลื่อนในเวลานี้มีเพียงจำนวนน้อยเท่านั้น ที่จะเดินผ่านด่านเสือสมิงที่มีชื่อว่า ตัณหา ราคะ ไปจนถึงจุดหมายได้ ส่วนมากมักถูกสมิงราคะคาบเอาไปกินเป็นอาหารอันโอชะ เรื่องกิเลสราคะนี้ ในยามหนุ่มตั้งแต่ก่อนบวชก็มีเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แม้ว่าหลวงปู่จะปฏิบัติกรรมฐานพิจารณากายเสมอมิได้ขาด กิเลสกามราคะ พอได้เห็นอะไรที่จะเกิดกิเลสเพียงชั่วขณะก็หน่ายไป แต่ไม่ขาดในทันที จนกระทั่งบวชพระแล้ว ก็คอยพิจารณาตามดูอยู่เสมอ ท่านก็รู้ว่ายังมีอยู่ ท่านว่า
พระประธานในโบสถ์
วัดกลางชูศรีเจริญสุข


“ เจ้าราคะเอ๋ย เราอยู่วัดห้ามเจ้าก็ไม่ฟัง ห้ามหัวค่ำมาเช้ามืด ห้ามเช้ามืดมาหัวค่ำ เออมันอยากสึก จะสึกไปทำไมโว้ย ทีนี้จะเข้าป่าละโว้ย เรียกลูกศิษย์มา ครูบาเรียกทำไมครับ ครูบาจะไปไหน จะไปให้เสือกิน ช่วยหาบของไปหน่อยจวนจะเพลแล้ว ไปพบถ้ำเสือแล้วโว้ย เอ้า..เอาเพลมาฉัน พอฉันเพลแล้ว เอ้า..ขนของเข้าถ้ำ ขนเสร็จพวกมึงไป ครูบาไม่ไปหรือ ไม่ไปหรอก กูจะอยู่ให้เสือมันกิน ”
ถ่ายรูปครั้งแรกติดใบสุทธิ
พ.ศ.2473 อายุ 36 ปี

พอเด็กไปแล้ว พอบ่ายโมงปักกลดปากถ้ำ เสือมาแล้ว 1 ตัว ยาว 6 ศอก อ้ายชอบราคะเอ๋ย เสือมาแล้วมาช่วยกัน กูห้ามเช้ามืดมึงมาหัวค่ำ กูห้ามหัวค่ำมึงมาเช้ามืด เสร็จแล้วนั่งหลับตา พอลืมตาขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง 6 ศอก มาอีก 2 ตัว 3 ตัว 4 ตัว 6 ตัว เอ้อ..เอาให้พอเด้อ อ้ายตัณหาเอ๊ย มึงเอาให้พอเสือมาแล้ว นั่งหลับตาตั้งแต่บ่าย 3 โมง จน 3 โมงเช้า เอ๊ะ..เสือหายหมด ไอ้ราคะก็หายไปด้วย เอ่อ..ทีนี้กลับบ้านได้แล้วโว้ย โดยไปตัดสินกันในป่าในเขา เสือออกมาล้อมกลดมันตั้ง 6 ตัวพอดีกัน เกือบเห็นกงจักรเป็นดอกบัวเสียแล้ว เห็นคนเป็นนางฟ้าไปแล้ว เวลาเสือมาจริงๆ มันไม่รู้ไปไหน ออกจากกลดไม่ได้ นั่งหลับตาไว้เลยมา 6 ตัวพอดี

ตาตัวหนึ่ง หูตัวหนึ่ง จมูกตัวหนึ่ง ลิ้นตัวหนึ่ง กายตัวหนึ่ง ใจตัวหนึ่ง ในใจของท่านสงบนิ่ง ราคะมาทางไหนไปอย่างไร หมดสิ้นไปไหม มีอีกไหม รู้ได้หมดตอนนี้เอง
เหรียญเสมาหลวงปู่บุดดา ถาวโร
วัดกลางชูศรีเจริญสุข บางระจัน ยันต์ 5
ที่ระฤกในการทำบุญฉลองอายุครบ
95 ปี พ.ศ.2531 เนื้อทองแดง


เมื่อออกพรรษาแรก หลวงปู่ได้ออกจากจาริกสถานวิเวกเจริญสมณธรรมตามลำพังทางจังหวัดหนองคาย โดยไม่มีมุ้ง ไม่มีกลด คงมีแต่ร่มธรรมและของใช้จำเป็นเท่านั้น ด้วยความตั้งใจ อุทิศชีวิตเลือดเนื้อเป็นทานแก่ยุง เรือด ริ้น ทาก และสัตว์ร้ายทั้งหลาย ภายในป่าอันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสิงสาราสัตว์ทั้งใหญ่น้อย ในป่าดงทึบเต็มไปด้วยไข้ป่า ไข้มาลาเรีย แต่ท่านก็สามารถเอาตัวรอดพ้นจากภัยทั้งหลายมาได้ด้วยดี
เหรียญกลมบัวข้าง หลวงปู่บุดดา ถาวโร
ยันต์ 5 พ.ศ.2531 เนื้อทองแดง

ก่อนเข้าพรรษา 2 ที่วัดเนินยาว อุปัชฌาย์ของท่าน (ม.ร.ว.เอี่ยม) นิมนต์ท่าน เจ้าคุณบาลีฯ มาร่วมงาน หลวงปู่มีหน้าที่ฝ่ายต้อนรับพระเถระ พอหลวงปู่กราบท่านเสร็จ จิตมันรวมเป็นสมาธิเอง ครั้นสงบลงพอสมควรแล้วจึงถอนจิตสมาธิ แล้วท่านเจ้าคุณอุบาลีฯก็พูดว่า

“ หลานน้อยมีของเก่าเป็นทุนอยู่พอแล้ว จึงทำความเพียรต่อไป ให้หาหนทางพ้นทุกข์ มรรคผลนิพพานรออยู่แล้ว จึงทำความสงบแต่พอประมาณ อย่าทำภาวนาเอาแต่สงบแบบสมาธิหัวตอนั่นไม่ใช่ทางบรรลุมรรคผลนะ ”
โบสถ์วัดกลางชูศรีเจริญสุข
อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี

ซุ้มประตูวัดกลางชูศรีเจริญสุข อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี

เมื่อฟังโอวาทแล้วให้เอิบอิ่มเบิกบานในธรรมมาก หลวงปู่ว่า เจ้าคุณอุบาลีฯ เป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่ทรงคุณธรรม น่าเคารพเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง ทรงแตกฉานมากในปริยัติธรรม และบรรลุถึงปฏิเวธธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นอาจารย์ของ พระครูเสาร์ พระครูมั่น ในภาคอีสาน

บางคนถามท่านว่า “ เจ้าคุณฯ ขาหักแล้วยังเทศน์อีกหรือ ”
ท่านว่า “ ขาหัก แต่ธรรมมันไม่หัก ”

หลวงปู่บวชได้ 10 พรรษา ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯก็มรณภาพปี พ.ศ.2475 ที่วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ

ชาตินี้ไม่ขอติดในโลกีย์

ดังได้กล่าวแล้วว่า หลวงปู่บุดดา ท่านสามารถระลึกย้อนชาติได้ ตั้งแต่จำความได้และพยายามจะบอกให้ผู้เป็นมารดาได้รับรู้ แม้แต่กรณีที่ท่านปรารภจะออกบรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุได้ 5 ขวบ เพราะท่านสามารถระลึกชาติได้ว่าท่านเคยได้รับผลของการเข้าไปข้องกับกามกิเลส ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง

ตั้งแต่เด็กท่านมักบอกมารดาว่า โตขึ้นท่านจะไม่ขอมีครอบครัว เพราะละอายใจในเรื่องที่ระลึกได้จากอดีตชาติของท่านว่า ในอดีตชาติหนึ่ง เมื่อท่านเป็นชายหนุ่มเกิดพอใจหญิงสาวชาวบ้านใกล้เคียงผู้หนึ่ง จึงไปพูดคุยด้วย แทนที่ฝ่ายหญิงจะพูดด้วยดี กลับพูดลำเลิกถึงอดีตชาติว่า

“ ในชาตินั้นท่านทำให้ดิฉันถูกทุบตี ถูกจับผูกทรมานให้อดอาหารจนท้องกิ่วตาย พอมาชาตินี้จะมารักดิฉันทำไม ”
เหรียญระฆัง (ฉีดสี่เหลี่ยมซุ้มระฆัง) เนื้อนวโลหะ
หลังยันต์ 5 หลวงปู่บุดดา ถาวโร

ซึ่งหลวงพ่อก็มองเห็นอดีตชาติของตนได้ว่า ชาติหนึ่งท่านเคยเกิดเป็นสมภารเจ้าวัดที่ประเทศลาว ขณะนอนป่วยอยู่นั้นได้มีหมาตัวเมียขึ้นมาลักลอบกินอาหารที่เด็กวัดเก็บไว้ ท่านจึงร้องบอก พวกเด็กจึงไล่ตี และไม่เพียงไล่ตีเท่านั้น กลับจับหมาไปผูกกับรั้วที่ไกลจากท่านสมภารนอนเจ็บ ทั้งยังมัวห่วงแต่การเจ็บป่วยของสมภารและวุ่นวายกับการตายของสมภารในเวลาต่อมา จึงลืมนึกถึงหมาตัวนั้น เป็นเหตุให้หมาตัวเมียนั้นต้องอดอาหารทุรนทุรายตายอย่างทรมาน

เมื่อชายหนุ่มระลึกถึงอดีตชาตินี้ได้ ก็เกิดสลดละอายใจว่า นี่เราเกือบจะเอาหมามาเป็นเมียแล้วหรือ การป่วยกับการตายของท่านสมภารและหมาในคราวนั้น จึงจองเวรติดตามมา การที่เด็กวัดไปตีหมาและจับผูกไว้จนตายไม่ใช่คำสั่งของสมภาร หมาตัวนั้นจึงจองเวรได้เพียงเรื่องที่ถูกตี เพราะเสียงร้องบอกของสมภารเป็นเหตุ ครั้นต่อมาเมื่อหมาตัวนั้นเกิดเป็นหญิงสาว แล้วระลึกชาติได้จึงลำเลิกอดีตชาติที่เป็นต้นเหตุให้ชายหนุ่มเดือดร้อนอดสูละอายใจ เพราะระลึกตามได้ถึงอดีตชาติในคราวที่เป็นสมภารทำไว้

การจองเวรในอดีตชาติยิ่งทำให้ท่านมีความเบื่อหน่ายในการเวียนเกิดเวียนตายในวัฏสงสารอันยาวนานมากยิ่ง หลวงปู่ว่าอดีตที่ผ่านมา 7 ชาติ ครั้นพอช่วยเหลือตนเองได้ จะไม่ให้ผู้หญิงอื่นเข้าใกล้เลย ยกเว้นโยมแม่คนเดียวเท่านั้น
เหรียญหยดน้ำ หลวงปู่บุดดา ยันต์ 5 เนื้อเงิน

ขณะที่ยังเป็นเด็ก หลวงปู่เคยขอคุณพ่อคุณแม่บวชตั้งแต่อายุ 5 ขวบ แต่ผู้ปกครองยังไม่อนุญาต เพราะโยมมารดาหวงด้วย หลวงปู่ใช้ง่ายดีไม่เกเร ตอนอายุ 10 ขวบ หลวงปู่บอกแม่ว่า โตมาเราจะบวชให้แม่ คนอื่นเขาแต่งงานกันนะเรารู้มาหลายชาติแล้ว มาชาตินี้เราขอถามให้โยมแม่มาเป็นพยานหน่อยว่า สาวบ้านโน้นมาอยู่บ้านนี้ทำไม?...เขามาอยู่กับผัวเขา พ่อผัวแม่ผัวเขา หนุ่มคนนี้ทำไมไปอยู่โน่นล่ะ เขาไปอยู่กับพ่อตาแม่ยายเขา พวกพ่อตัวก็มี แม่ตัวก็มีกลับไม่อยู่ เราบอกว่าเราไม่เอาแต่งงานอย่างหนุ่มพวกนั้น สาวพวกนั้นเราไม่เอา แม่บอกว่า ไอ้หนูอย่าพูดอย่างนั้นซี่ เอ๊..พูดออกไปแล้วนี่จะไม่ให้พูดยังไงล่ะ พูดว่าจะบวชให้แม่นะ

ในปี พ.ศ.2458 หลวงปู่อายุ 21 ปี ถูกเกณฑ์เข้าเป็นทหารสังกัดกองทัพบก จากหลักฐานที่ท่านได้สักไว้ที่ใต้ท้องแขนข้างขวา ซึ่งเรียกว่า “ เลขสักหมาย ” ทบ 3-2458 ซึ่งหมายถึง ทหารบกปืน 3 ในรัชกาลที่ 6 ท่านรับราชการทหารอยู่ 2 ปี ในกองทัพที่ 3 ศูนย์การทหารปืนใหญ่ อำเภอโคกกระเทียม จังหวัดลพบุรี ช่วงเป็นทหารนี่เองท่านจึงได้มีโอกาสฝึกเขียนฝึกอ่านหนังสือ
รูปเหมือนจิ๋ว ซอกแขนทะลุ รุ่นเศรษฐี เนื้อเงิน

ตอนเป็นพลทหารหนุ่มรูปงามเรียบร้อย พวกผู้หญิงชอบมาเกี้ยวท่าน แต่กลับพูดว่า
“ กลับไปเสียเถอะนะ ฉันเป็นทหารตัวเมีย ไม่ชอบผู้หญิง ถ้าไปเจอทหารตัวผู้คนอื่นเข้าจะลำบากน ะ”

บางครั้งพวกผู้หญิงชอบมาจับตัวท่าน จับแขนท่าน ท่านก็เตือนว่า “ อย่ามาจับ อย่ามาต้องนะ พ่อ-แม่เขายังไม่ได้อนุญาต บาปนะ ”

ยี่สิบสามปีแห่งการรอคอย

หลวงปู่บุดดา ได้ปรารภจะออกบรรพชาตั้งแต่อายุได้ 5 ขวบ แต่ไม่อาจทำได้ดังใจ ต้องรอมาจนเข้ารับราชการทหารแล้วจึงปรารภอีกครั้งหนึ่ง แต่ทางบ้านก็ยังไม่เห็นสมควรอยู่ดี

หลังออกจากทหารเมื่ออายุ 22 ปีแล้ว ผู้ปกครองยังขอไว้ใช้ทำนาอีก 6 ปี จนอายุ 28 ปี บิดา-มารดาจึงอนุญาต หลวงปู่ว่า เวลาบวชต้องมีสกุลอื่นมาขอไปบวชนะ สกุลโน้นน่ะ โยมพ่อ-แม่ทางโน้นน่ะมาขอโยมพ่อโยมแม่ ให้หลวงปู่ไปบวชคู่กันกับลูกชายที่นี่ โยมนั่นก็เลยนับถือกัน มาขอลูกชายของโยม ขอองค์นี้ ( หลวงปู่ ) ไปบวช พอบวชไปเป็น 2 สกุล อยู่วัดผดุงธรรมนี่สกุลเกิด ไปอยู่วัดพระยาสกุลบวช โยมผู้หญิง 90 โยมผู้ชาย 80 มานับถือลูกบุญธรรมนี่มากกว่าลูกชาย
ถ่ายภาพในบ้านพักมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
จากซ็าย หลวงพ่อฤาษี ( พระราชพรหมยาน )
หลวงปู่คำแสน คุณาลังกาโร, หลวงปู่บุดดา ถาวโร
หลวงปู่ครูบาชุ่ม โพธิโก, หลวงปู่ครูบาชัยวงศาพัฒนา
หลวงปู่พระมหาอำพัน บุญหลง,
หลวงปู่ครูบาธรรมชัย ธัมมชโย

เวลาบวชคือ วันสาร์ 15 เมษายน 2465 พัทธสีมา วัดเนินยาว ตำบลโพนทอง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ท่านพระครูธรรมขันธสุนทร เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระครูเรือง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เจ้าอธิการไพล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ โดยคณะสงฆ์ไทย 25 รูป เป็นพระอันดับ หลวงปู่ได้รับฉายาว่า “ ถาวโรภิกขุ ”

หลวงปู่กล่าวเสมอว่า ท่านถือพระอุปัชฌาย์และสงฆ์ 25 รูป เป็นครูบาอาจารย์อุปัชฌาย์ทุกองค์ เพราะท่านสอนปัญจกรรมฐานให้แล้วในวันอุปสมบท คือ เกศา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกศา พิจารณาตามลำดับและย้อนกลับ จนเห็นได้ชัดเจนแคล่วคล่อง เมื่อบวชแล้วหลวงปู่ก็ตั้งใจทำตั้งแต่วันบวชเรื่อยมา ตั้งใจบวชไม่สึก ขณะพำนักจำพรรษา ณ วัดเนินยาว ท่านก็ได้แต่อาศัยการท่องบทสวดมนต์ ทำวัตรเช้าและค่ำ และปฏิบัติพระอุปัชฌาย์

หลวงปู่บุดดา-หลวงพ่ออุตตมะ
วัดวังก์วิเวการาม จ.กาญจนบุรี
ถ่ายเมื่อ 23 ตุลาคม พ.ศ.2535 อายุ 99 ปี
เมื่อหลวงปู่บวชได้ไม่กี่เดือน ทางวัดที่จำพรรษาอยู่มีการก่อสร้างศาลาหลังคาสังกะสี ซึ่งท่านก็เป็นพระองค์หนึ่งที่ต้องขึ้นไปช่วยมุงหลังคา ซึ่งขณะนั้นร้อนจัดมาก ยิ่งเป็นสังกะสีเก็บความร้อนได้ดีก็ยิ่งทวีความร้อนสูงมาก พระและชาวบ้านต่างช่วยกันอย่างขะมักเขม้นตั้งแต่เช้าจนแดดจัด ต่างทนไม่ไหวค่อยๆ ทยอยลงมาจนหมด เหลือเพียงหลวงปู่ซึ่งเป็นพระนวกะบวชใหม่ ผู้ไม่สะทกสะท้านกับความร้อนที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนั้นแต่อย่างใด คงอดทนทำงานจนเสร็จได้อย่างน่าอัศจรรย์

เมื่อตอนบวชเป็นพระใหม่ๆ เวลาออกบิณฑบาต บางครั้งก็มีหญิงสาวสวยผิวนวลมาใส่บาตร หลวงปู่มองเห็นนิ้วมืออันเรียวงามดุจลำเทียน อารมณ์หนุ่มก็พลันเกิดขึ้น มองมือก็สวย มองหน้าก็สวย ขณะเดินกลับวัดท่านก็คิดตลอดทางว่าจิตใจเป็นอย่างไรกันหนอ เขาให้ข้าวกับเราแล้วยังไม่พออีก ยังจะเอาคนใส่บาตรอีกด้วย ท่านตำหนิตนเองเมื่อจิตใจฟุ้งซ่านมากๆ แม้แต่กับข้าวอาหาร ถ้าอร่อยลิ้นอยากฉันมากๆ ท่านก็จะงดเสีย เป็นการทรมานตนเอง จนกว่าจะเอาชนะจิตใจของท่านได้ จนไม่เกิดความอยากได้ อยากมี อยากเป็น นั่นแหละจึงหยุดพิจารณา

หลวงปู่บุดดา-หลวงพ่อคง จตฺตมโล
วัดเขาสมโภชน์ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี
หลวงปู่มีความชำนาญในการปฏิบัติธรรมมาก วันหนึ่งขณะภาวนาอยู่ในพระอุโบสถได้อธิษฐานว่า ถ้าแม้จะรู้ธรรมเห็นธรรมแล้ว เมื่ออธิษฐานอย่างไรขอให้เป็นอย่างนั้น แล้วก็ตั้งใจเพ่งเตโชกสิณ จนปรากฏมีไฟลุกท่วมโบสถ์ มองเห็นไฟร้อนแรงจริงๆ จากนั้นท่านก็อธิษฐานเพ่งอาโปกสิณ เอาน้ำมาดับไฟธาตุก็ดับไฟได้จริง

หลวงปู่บุดดา-หลวงปู่สิม พุทธาจาโร
วัดถ้ำผาปล่อง จ.เชียงใหม่
หลวงปู่เป็นพระภิกษุหนุ่มผู้เคร่งครัดยิ่ง ถือธุดงควัตร ครองผ้าสามผืนเป็นวัตร บิณฑบาตเป็นประจำทุกวัน ฉันมื้อเดียว วันเว้นวัน ฉันเฉพาะในบาตร วันไหนบิณฑบาตแล้วไม่ฉันก็ถวายพระ-เณรองค์อื่น บางครั้งฉันข้าวเปล่าๆ ฉันข้าวกับเกลือก็มีตามแต่จะได้มา ชีวิตเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ทุกอย่างพอดีหมด เวลาร้อนเวลาหนาวหลวงปู่จะบอกว่า ร้อนพอดี หนาวพอดี เกี่ยวกับรสอาหาร บางครั้งเค็มมากเค็มน้อย หวานมากหวานน้อย แต่หลวงปู่บอกว่า เค็มพอดี จืดพอดี หวานพอดี อะไรๆ พอดีทุกอย่าง ท่านเป็นพระที่อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่สะสมวัตถุใดๆ ทั้งสิ้น มีความสำรวมกายวาจาเป็นปกติ รักษาความสะอาดเรียบร้อยอยู่ตลอดเวลา ท่านฝึกหัดตนไม่เคยขาด คือ ทำวัตรสวดมนต์ พิจารณากรรมฐาน 5 ตามที่ครูบาอาจารย์สอนมา พร้อมทั้งเร่งทำความเพียรด้วยความมานะอดทน จนถึงกับสลบก็เคยมี หลวงปู่ว่า อดไม่กลัว เจ็บไม่กลัว ตายไม่กลัว กลัวแต่จะไม่ได้ธรรมะ เพราะร่างกายมันธาตุดินธาตุน้ำปนกันเป็นตัวเท่านั้น

ชีวิตหลวงปู่ได้ทุ่มเทให้กับการปฏิบัติธรรมชนิดเอาชีวิตเป็นประกัน เดิมพันด้วยความตายกับความสำเร็จ ช่วงปีนั้นหลวงปู่ต้องอดทนกับความทุกข์ยากมาก ประเทศชาติและประชาชนเดือดร้อนเพราะสงคราม กลางคืนไม่มีไฟ ผ้าห่มผ้านุ่งก็หายาก เจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องทนเอา อาหารขาดแคลน บางวันก็มีฉันบ้าง บางวันก็ไม่มี ไม่ได้ฉันก็ต้องอด

( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 1211 หลวงปู่บุดดา ถาวโร วัดกลางชูศรีเจริญสุข อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี เดือนมิถุนายน พ.ศ.2560 ราคาปก 60 บาท ภาพและเรื่องโดย ส.เจริญสุข )


วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 

สามารถหาอ่านหนังสือ ลานโพธิ์ ในรูปแบบ E-book ได้แล้วจร้า.. 
Available Now!  You can read whenever, wherever with any device.

 BangkokSarn App on Google Play store    Lanpo App on Google play Store    Ookbee Book Shop   Meb Market Book Shop    AIS Book Store   
 Lanpo App on Google Play Lanpo App on iTunes

#ลานโพธิ์ #1211 #หลวงปู่บุดดา #วัดกลางชูศรีเจริญสุข #จังหวัดสิงห์บุรี