หลีกทางเซียน : ปัจจัยพื้นฐาน

เรื่องโดย ทแกล้ว ภูกล้า

ระหว่างก้มๆ เงยๆ ดูตามในตลาดพระเครื่อง ลูกค้าใกล้ตัวถามพ่อค้าเจ้าของพระว่า พระอะไร
หกพันห้า พ่อค้าพูดอย่างไม่เงยหน้า

เมื่อลูกค้าถามว่า วัดไหน รุ่นไหน สร้างปีไหน และยิ่งลึกถึงคำถามที่ว่า มีเคล็ดลับตำหนิอย่างไร คำตอบเขาก็ยิ่งห้วน ทุกอย่างผมไม่รู้ รู้แต่ราคา

บรรยากาศการสนทนาแบบนี้ ที่จริงได้ยินอยู่บ่อยๆ ไป หลายพ่อค้าที่มีท่าทางเชี่ยวชาญต่อการขาย รู้ราคา บางระดับอาจกล้ายืนยันว่า เป็นพระแท้ แม้อาจไม่ได้ยินว่า เก๊รับคืน แต่ไม่มีใครสนใจ ข้อมูลหลักที่น่าจะยืมคำจากตลาดหุ้นมาใช้ ปัจจัยพื้นฐาน


ยิ่งในช่วงห้าปีสิบปีหลัง ระหว่าง บรรยากาศของเศรษฐกิจฟองสบู่ พระเครื่องถูกปั่นราคา ซื้อขายกันแบบสนุกสนาน โดยอาศัย ปัจจัยพื้นฐาน จากนิตยสารพระเครื่องชี้นำ

พระเกจิฯ บางวัด เคยเห็นเขาซื้อขายหลักหมื่น หรือหลายๆ หมื่นๆ ทั้งที่อายุการสร้าง ยังไม่ถึงสี่สิบปี เคยมีคำถามว่า อาจารย์ ที่สร้างก็รุ่นใหม่ กระบวนการสร้างก็ใช้วิธีจ้างพ่อค้าปั๊ม หรือทำแบบสมัยใหม่ วัสดุมวลสารการสร้าง บอกเพียงว่าวัตถุมงคล แต่จริงๆ แล้ว อะไรก็ไม่รู้

ตัวอย่างจาก พระผงชุดวัดปากน้ำ ก็ได้ ปฏิเสธไม่ได้ความเลื่อมใสศรัทธา มาจากหลวงพ่อสด เมื่อหลวงพ่อสดมรณภาพแล้ว ลูกศิษย์ลูกหาจะสร้างพระต่อมาเพื่อหาเงินเข้าวัด ก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่น่าปฏิเสธ
วัดปากน้ำรุ่น 1 เล่นรวมกับรุ่น 2 ตรวจสอบประวัติการสร้างแล้ว ครั้งละ 84,000 องค์ เท่าจำนวนพระธรรมขันธ์ ส่วนรุ่น 3 ขณะที่ความต้องการถึงจุดอิ่มตัว หลวงพ่อท่านเมตตา อนุญาตให้สร้างไว้ถึง 1 แสนองค์ 
พระผงวัดปากน้ำ รุ่นสาม ราคาย่อมเยา กว่า จึงพอมีเปลี่ยนมือซื้อขายต่อมาอีกหลายปี

ถ้าไม่ติดรุ่น 1 รุ่น 2 ซึ่งแต่เดิมเล่นแยกกัน ลงชะแล็ก หรือ แล็กเกอร์ หรือไม่ลงชะแล็ก หรือ แล็กเกอร์ แต่ต่อมาก็เล่นรวมกัน ลงน้ำมันเคลือบราคาแพงกว่า เพราะสภาพพระสวยกว่า คงทนกว่า ขณะที่พระรุ่นแรกจริงๆ เริ่มเปื่อยยุ่ย

วิวัฒนาการสร้าง พระผงวัดปากน้ำ แม้จะหลังสมเด็จพุฒาจารย์โต สร้างเกือบร้อยปี แต่ก็ก้าวหน้ามาทางเดียวกัน คือเริ่มจากการลองทำ แล้วก็เปลี่ยนมาผสมด้วยน้ำมันตังอิ้ว

เชื่อกันว่า สมเด็จโตสร้างพระผงรุ่นแรก ก็ใช้น้ำตาล น้ำอ้อย หรือกล้วย เป็นเยื่อประสาน เป็นที่มาของพระเนื้อผงหนึกนุ่มคงทนสวยงามเป็นอมตะนิรันดร์กาล ที่ปรับปรุงในภายหลังได้รับคำแนะนำ จากหลวงวิจารณ์เจียระไน ช่างหลวง

กระบวนการสร้างผงของท่าน น่าอัศจรรย์ เมื่อศึกษาถึงการเขียนยันต์ปถมัง อิทธิเจ ฯลฯ แล้ว หลับตานึกถึงพลังจิต ที่เพ่งเข้าใส่ในอณูของทุกมวลสารต้องใช้ความเชี่ยวชาญ ความเข้าถึง และความเพียรพยายามที่ยิ่งใหญ่ จนบรรดาเกจิฯรุ่นใหม่ ถึงรู้ก็ไล่ไม่ทัน ตามไม่ถึง

พิมพ์พระสมเด็จฯ ที่เริ่มจากลอกเลียนพระพิมพ์โบราณ ก็พัฒนาไปสู่ศิลปะแบบใหม่ สี่เหลี่ยมที่งดงามที่สุดในโลก สี่เหลี่ยมสองคูณสาม องค์พระเจดีย์สามเหลี่ยม ซุ้มครึ่งวงกลม

มองด้วยแง่ศิลป์ ก็เป็นการปฏิวัติศิลปะพระเครื่องครั้งใหม่ มองในแง่ของการเปรียบเทียบ ก็สอดคล้อง สี่เหลี่ยมหมายถึงอริยสัจ 4 สาม-เหลี่ยมและฐานสามชั้นขององค์พระ อาจหมายถึงองค์พระรัตนตรัย
ซุ้มครึ่งวงกลม อาจเปรียบได้กับอนัตตา ความว่างเปล่า ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ความไม่มีตัวตน

ทั้งกระบวนการสร้าง วัสดุมวลสาร รูปทรงศิลปะ และประวัติขององค์พระ อาจารย์ผู้สร้าง ล้วนแล้วแต่ยิ่งใหญ่ ชนิดที่ไม่มีใครเทียบ

หากเอาหลักความนิยมพระสมเด็จฯ ซึ่งเพิ่มพูนจนเกินค่าเพชรมณีไปแล้ว มาเป็นเกณฑ์ ก็อาจจะแปลกใจว่า พระเกจิฯรุ่นใหม่ ทำไมจึงมีราคาขึ้นมาได้ ทั้งที่ทุก ปัจจัยพื้นฐาน สุกเอาเผากิน

อาศัยอาจารย์มีชื่อสักหน่อย หรือ ถ้าไม่มีชื่อ สื่อก็ช่วยกันประโคมโหมให้มีชื่อ ตกลงกับท่านได้ ก็ไปจ้างเขาปั๊มพระมา ถ้าท่านปฏิเสธพิธีปลุกเสกพระ ก็ใช้วิธีให้ท่านยื่นมือมาจับ หลับตาสักนิด ถ่ายรูปเป็นหลักฐาน แล้วก็โฆษณาว่า ผ่านการอธิษฐานจิต

สายพระโลหะ แบบอย่างจากสมเด็จสังฆราชแพ วัดสุทัศน์ ก็เช่นเดียวกัน คือเริ่มจากการลงเลขยันต์ในแผ่นโลหะ ลงแล้วลงอีก ตอนหล่อก็มีพิธี หล่อเสร็จแต่งพระเสร็จแล้ว ก็อาจจะปลุกเสกต่อ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า กว่าจะประสิทธิ์ประสาทไปถึงมือลูกศิษย์

ความยาก ความเชี่ยวชาญในกระบวนการสร้าง บุญบารมีของอาจารย์ จำนวนการสร้าง ทุกอย่างเป็น ปัจจัยพื้นฐาน ต่อเนื่องกัน เกื้อกูลกันและกัน จนกลายเป็นค่านิยม

พระที่มี ปัจจัยพื้นฐาน แบบนี้แหละครับ ใครมีไว้ ไม่ว่าจะใช้เงินซื้อมาในราคาถูก หรือแพงลิบลิ่ว แต่ถ้าหากเข้าถึงอย่างลึกซึ้ง ความเบื่อหน่าย ความท้อแท้ เมื่อพระขายไม่ได้ หรือพระราคาตก ก็จะไม่มี หรือมีก็น้อยเต็มที

แตกต่างจากพระเกจิฯรุ่นใหม่ เมื่อสิบปีที่แล้ว ..ใหญ่ไปเหมามาจากวัด ทำข่าวขายลดแลกแจกแถมองค์ละ 50 บาท 100 บาท ก่อนหน้าเคยมีข่าวซื้อขายกันหลายพันหลาย หมื่น ตอนนี้รู้สึกว่าจะเงียบๆ ไป
เล่นพระโดยตามๆ เขาไป อาศัย กลไกตลาดอย่างเดียว กว่าจะรู้ว่า เป็นแมงเม่า ก็สายไปเสียแล้ว

ซื้อตุนไว้ราคาแพงขายไม่ได้ จะนิมนต์ขึ้นคอก็ตะขิดตะขวง
ได้บทเรียนจากครั้งนี้ หากจะยังเล่นหากันต่อไป อย่าให้พลาดซ้ำรอบสอง

( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 747 ปักษ์หลัง เดือนพฤศจิกายน 2540 : หลีกทางเซียน : ปัจจัยพื้นฐาน โดย ทแกล้ว ภูกล้า )
ลิขสิทธิ์ 2010 ลานโพธิ์ - สำนักพิมพ์บางกอกสาส์น. สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด.  Copyright Bangkoksarn Publishing 2010. 
วันนี้อ่านหนังสือ ลานโพธิ์ บน i-Pad หรือ Tablet computer ได้ทั่วโลกแล้ว ตามลิงค์นี้ 


 BangkokSarn App        Lanpo        OokBee       Meb market       AiS Bookstore